ถาม- ตอบ เตรียมสอบครู กศน.
******************
การเทียบโอนและเทียบระดับการศึกษา
- จงอธิบายความสำคัญของการเทียบโอนผลการเรียน
ตอบ การเทียบโอนผลการเรียนเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงผลการเรียนรู้ที่หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมจัดการศึกษาและเชื่อมโยงผลการเรียนรู้จากวิธีการเรียนที่หลากหลาย รวมทั้งจากการประกอบอาชีพและประสบการณ์ต่าง ๆ และเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้บุคคลมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเมื่อบุคคลตระหนักและรับรู้ว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มานั้น สามารถนำมาเพิ่มคุณค่าโดยการเทียบโอนเป็นผลการเรียน นับเป็นผลพลอยได้จากการเรียนรู้ นอกเหนือจากการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นไปแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพ พัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
- การเทียบโอนผลการเรียนประกอบด้วยหลักการใดบ้าง
ตอบ การเทียบโอนผลการเรียนมีหลักการ ดังนี้
- หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเทียบโอนผลการเรียนได้
- การเทียบโอนผลการเรียนต้องสามารถเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ ทั้งจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาอาชีพหรือประสบการณ์การทำงาน
- เป็นการเชื่อมโยงการศึกษาทั้งสามรูปแบบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต
- เป็นการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาในการเทียบโอนผลการเรียน โดยสถานศึกษาจะต้องจัดให้บุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและดำเนินการให้มีการเทียบโอนผลการเรียน
- วิธีการและหลักเกณฑ์การเทียบโอนผลการเรียนต้องได้มาตรฐานชัดเจนสมเหตุสมผลเชื่อถือได้โปร่งใสและยุติธรรม
- การเทียบโอนผลการเรียนมีวัตถุประสงค์อย่างไร
ตอบ 1. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ออกจากการศึกษาในระบบ หรือนอกระบบรวมทั้งผู้ที่เรียนรู้ตามอัธยาศัยสามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
- เพื่อเปิดโอกาสให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับการศึกษาเดียวกันหรือระดับที่สูงขึ้น
- ขอบข่ายของการเทียบโอนผลการเรียน มีอะไรบ้าง
ตอบ แนวทางการเทียบโอนผลการเรียน ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จัดทำขึ้นเป็นแนวทางให้สถานศึกษาใช้ในการเทียบโอนผลการเรียน ระหว่างรูปแบบการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ระหว่างหลักสูตรของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าสู่ หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีขอบข่าย ดังนี้
- การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรที่จัดการศึกษาเป็นระดับประถม มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายหรือเทียบเท่า
เป็นการเทียบโอนผลการเรียนจากหลักฐานการศึกษา ที่ออกให้โดยสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้ หรือให้การรับรอง และจัดระดับการศึกษาเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า ตามหลักสูตร ทั้งที่จัดในรูปแบบการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ
- การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาต่อเนื่อง
เป็นการเทียบโอนผลการเรียนจากการเรียนในหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรฝึกอบรมที่จัดขึ้นตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ
- การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
เป็นการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์จากการเป็นทหารกองประจำการ อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำท้องถิ่น และแรงงานไทยที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน
- การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรต่างประเทศ
เป็นการเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาหลักสูตรต่างประเทศ ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศนั้น ๆ ให้การรับรองมาตรฐานการจัดการศึกษา หรือผลการเรียนจากหลักสูตรของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศเทียบความรู้
- การเทียบโอนผลการเรียนจากการประเมินความรู้และประสบการณ์
เป็นการเทียบโอนผลการเรียน โดยใช้วิธีการประเมินความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียน ซึ่งมีการเรียนรู้จากการศึกษาตามอัธยาศัย การประกอบอาชีพ การทำงาน โดยอาจมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากการทำงาน หลักฐานอื่น ๆที่เกี่ยวข้องหรือไม่มีหลักฐานก็ได้
- ผู้ขอเทียบโอนผลการเรียนจะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปอย่างไร
ตอบ 1. ต้องไม่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาหรือระดับที่เทียบเท่าของสถานศึกษาอื่น
- ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
- การเทียบโอนผลการเรียนมีกี่วิธี อะไรบ้าง
ตอบ การเทียบโอนผลการเรียนมี 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 การพิจารณาจากหลักฐานการศึกษา
1.1 การพิจารณาหลักฐานการศึกษาจากหลักสูตรที่จัดการศึกษาเป็นระดับ เป็นการตรวจสอบหลักสูตรผลการเรียนในรายละเอียดเกี่ยวกับ ระดับหรือชั้นปีที่เรียนจบมา รายวิชาที่เรียน ผลการเรียน ความถูกต้องของหลักฐาน โดยหลักฐานการศึกษาที่นำมาเทียบโอนผลการเรียนต้องเป็นหลักฐานที่ออกโดยสถานศึกษาของรัฐ หรือเอกชนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน หรือวิทยฐานะทางการศึกษา
1.2 การพิจารณาหลักฐานจากการศึกษาต่อเนื่อง เป็นการตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตร เนื้อหาวิชาที่ศึกษา จำนวนชั่วโมง หน่วยงานที่จัด เพื่อพิจารณาเทียบโอนให้สอดคล้องกับรายวิชาตามหลักสูตร ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนของสถานศึกษา
วิธีที่ 2 การประเมินความรู้และประสบการณ์ เป็นการวัดตรวจสอบและประเมินผลการเรียนรู้และประสบการณ์ของผู้เรียนที่เกิดจากการประกอบอาชีพ การทำงาน จากการเรียนรู้ตามอัธยาศัย โดยใช้เครื่องมือประเมินที่หลากหลาย เช่น แบบทดสอบ แบบสัมภาษณ์ การปฏิบัติจริง เป็นต้น
- จงอธิบายขอบข่ายของการเทียบโอนผลการเรียนจากหลักฐานการศึกษา
ตอบ การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักฐานการศึกษา มีขอบข่ายดังนี้
- การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544
(ในระบบ) เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
- การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (นอกระบบ) เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
- การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พุทธศักราช 2545 เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
- การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรอื่น ๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้
- การพิจารณาเทียบโอนให้พิจารณาจากอะไร
ตอบ 1. ระยะเวลาและระดับชั้นที่ผู้ขอเทียบโอนเรียนผ่านมา
- รายวิชา/ หมวดวิชา ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ตัวชี้วัดของรายวิชาหรือคำอธิบายรายวิชา ระหว่างรายวิชาที่นำมาเทียบโอนกับรายวิชาที่รับเทียบโอน ต้องมีความสอดคล้องกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
- จำนวนหน่วยกิตของรายวิชา/หมวดวิชาที่นำมาเทียบโอน ต้องไม่น้อยกว่าจำนวนหน่วยกิตในรายวิชาที่รับเทียบโอนผลการเรียน หากรายวิชาที่นำมาเทียบโอนผลการเรียนมีจำนวนหน่วยกิตน้อยกว่าจำนวนหน่วยกิตในรายวิชาที่รับเทียบโอนผลการเรียน อาจนำรายวิชาอื่นที่อยู่ในสาระและมาตรฐานเดียวกัน มานับรวมให้ได้จำนวนหน่วยกิตเท่ากับ หรือมากกว่าจำนวนหน่วยกิตในรายวิชาที่รับเทียบโอนผลการเรียน
- ไม่รับเทียบโอนรายวิชา/ หมวดวิชาที่มีค่าระดับผลการเรียนเป็น 0 ร มส
- คณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนของสถานศึกษา มีหน้าที่อย่างไร
ตอบ ศึกษา วิเคราะห์หลักสูตรของสถานศึกษาที่ผู้เรียนนำหลักฐานการศึกษามาเทียบโอนผลการเรียน แล้วจัดทำตารางวิเคราะห์หลักสูตรเพื่อใช้ในการเทียบโอนผลการเรียน
- จงอธิบายการเทียบโอนผลการเรียนในแต่ละระดับการศึกษา
ตอบ การเทียบโอนผลการเรียนให้เทียบได้ทั้งรายวิชาบังคับและรายวิชาเลือก โดยนับรวมกันแล้วต้องไม่เกินจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดในแต่ละระดับการศึกษา
ระดับประถมศึกษา เทียบโอนได้ไม่เกิน 36 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เทียบโอนได้ไม่เกิน 42 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เทียบโอนได้ไม่เกิน 57 หน่วยกิต
- จงอธิบายการให้ค่าระดับผลการเรียนจากการเทียบโอน
ตอบ 1. ผลการเรียนเป็นรายวิชา ให้ใช้ค่าระดับผลการเรียนตามที่ปรากฏในหลักฐานการศึกษาที่นำมาเทียบโอน ถ้าผลการเรียนในหลักสูตรเดิมมากกว่า 1 รายวิชานำมาเทียบโอนกับหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้ 1 รายวิชา ให้นำค่าระดับผลการเรียนของรายวิชาที่ขอเทียบโอนมาเฉลี่ยหากมีจุดทศนิยมให้ปรับทศนิยมตามหลักการทางคณิตศาสตร์ เพื่อบันทึกผลการเรียนต่อไป
- ผลการเรียนเป็นหมวดวิชา ให้ใช้ค่าระดับผลการเรียนของหมวดวิชาเป็นค่าระดับผลการเรียนในรายวิชาที่เทียบโอนได้
- ใครเป็นผู้พิจารณาอนุมัติผลการเทียบโอน
ตอบ หัวหน้าสถานศึกษา
- การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาต่อเนื่อง หมายถึงอะไร จงอธิบาย
ตอบ การนำผลการเรียนจากการศึกษาที่เป็นหลักสูตรเฉพาะหรือหลักสูตรฝึกอบรมตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพ ทักษะชีวิต การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาสังคมและชุมชน มาขอเทียบโอนเป็นส่วนหนึ่งของผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้แก่
- การศึกษาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น
- การเข้าค่ายศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
- การจัดฐานการเรียนของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
- หลักสูตรการศึกษาหรือหลักสูตรการอบรมที่หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานภาคเอกชนเป็นผู้จัดการศึกษา ได้แก่
4.1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
4.2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4.3 กระทรวงมหาดไทย
4.4 กระทรวงสาธารณสุข
4.5 กระทรวงกลาโหม
4.6 องค์กรเอกชน (NGO)
- การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาหลักสูตรต่อเนื่องมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง
ตอบ 1. เป็นหลักสูตรที่หน่วยงานของรัฐจัดขึ้น ถ้าเป็นหลักสูตรของหน่วยงานหรือองค์กรเอกชน จะต้องผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนของสถานศึกษา
- เอกสารหลักฐานที่จะนำมาเทียบโอนจะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้มาแล้วไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่ออกหลักฐาน หรืออยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนของสถานศึกษา โดยสถานศึกษาจะต้องตรวจสอบกับต้นฉบับจริง และให้สถานศึกษาประทับตราแสดงว่าได้ผ่านการใช้หลักฐานมาแล้ว เพื่อไม่ให้นำผลการเรียนไปเทียบโอนซ้ำ
- สถานศึกษาดำเนินการสัมภาษณ์ผู้ขอเทียบโอน ประกอบเอกสารที่นำมาเสนอขอเทียบโอน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการศึกษาในหลักสูตรที่นำมาเทียบโอน เช่น วุฒิบัตร ประกาศนียบัตร เอกสารประกอบการอบรม ตารางการอบรม และบันทึกการเรียนรู้ เป็นต้น
- เกณฑ์การนับจำนวนชั่วโมง ให้พิจารณาจากเนื้อหารายวิชาที่อยู่ในกลุ่มสาระหมวดวิชาเดียวกัน โดยคิดคำนวณจาก 40 ชั่วโมงเป็น 1 หน่วยกิต
- ให้พิจารณาความสอดคล้องของสาระเนื้อหารายละเอียดที่ไปเรียนรู้มาเพื่อเทียบเข้ากับรายวิชาในหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และให้คำนึงถึงมาตรฐานของรายวิชา ความยากง่ายและซับซ้อนของเนื้อหาสาระประกอบด้วย
- ให้ระดับผลการเทียบโอนเป็น “ผ่าน”
- หลักฐานที่มาขอเทียบโอนสามารถใช้เทียบโอนได้ในระดับใดระดับหนึ่งเท่านั้น
- ให้บันทึกข้อความ ลงในด้านหลังของหลักฐานฉบับจริง
- การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาหลักสูตรของต่างประเทศ หมายถึง
ตอบ การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาหลักสูตรของต่างประเทศ เป็นการนำผลการเรียนจากหลักสูตรต่างประเทศสายสามัญ และสายอาชีพ ที่ศึกษาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งผลการเรียนของนักเรียนในโครงการแลกเปลี่ยนมาเทียบโอนเป็นผลการเรียน ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยให้ปฏิบัติตามแนวทางการเทียบโอนผลการเรียนทั่วไป และแนวทางการเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาหลักสูตรต่างประเทศ
การศึกษาต่อเนื่อง(ทักษะชีวิต,พัฒนาสังคมและชุมชน,ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง)
- จงอธิบายความหมายของการศึกษาต่อเนื่อง
ตอบ การศึกษาต่อเนื่องเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการศึกษานอกระบบ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ โดยเป็นการจัดการศึกษา เพื่อสนองความต้องการ และความจำเป็นของบุคคล ต่อเนื่องไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา
การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อเสริมเติมเต็มและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน โดยไม่แบ่งเป็นระดับชั้น
การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาสำหรับผู้อ่านออกเขียนได้
การศึกษาต่อเนื่อง คือการจัดการศึกษาที่สนองความต้องการความจำเป็นของผู้เรียน
การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาที่ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ตลอดชีวิตให้กับบุคคล
การศึกษาต่อเนื่อง คือ การจัดประสบการณ์ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยหน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ
การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาที่ถูกกำหนดในรูปของโอกาส เพื่อให้ผูกพันต่อเนื่องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต หลังจากจบระดับประถมศึกษาหรือเทียบเท่า
การศึกษาต่อเนื่อง คือการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการและความจำเป็นของบุคคลต่อเนื่องจากฐานความรู้เดิม ในรูปของกิจกรรมการเรียนรู้หรือหลักสูตรการเรียนรู้ ประเภทมีหน่วยกิตและไม่มีหน่วยกิตซึ่งมิใช่การศึกษาตามระบบปกติ การศึกษาต่อเนื่อง เป็นได้ทั้งการฝึกอบรมด้านอาชีพ การยกระดับฝีมือในการทำงาน รวมทั้งหลักสูตรการพัฒนาตนเองเพื่อการทำงาน และการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขปัญหา
การศึกษาต่อเนื่อง คือการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการ และความจำเป็นของบุคคล ต่อเนื่องไปจากการศึกษา ขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา
- เป้าหมายของการจัดการศึกษาต่อเนื่องคืออะไร
ตอบ หลักสูตรประเภทนี้โดยทั่วไปจะเปิดกว้างสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเป้าหมายการศึกษานอกระบบโรงเรียนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่สนใจและต้องการเรียนรู้เพื่อนำความรู้ ทักษะหรือประสบการณ์ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยมีทักษะการอ่านเขียนภาษาไทยเป็นอย่างดี ยกเว้นในบางหลักสูตรอาจกำหนดให้มีคุณสมบัติเพิ่มเติมที่จำเป็นกับการเรียนรู้ในหลักสูตรนั้น ๆ
- การศึกษาต่อเนื่องมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร
ตอบ 1. สร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะเพื่อการประกอบอาชีพหรือพัฒนาอาชีพ
- ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะต่าง ๆ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ
- ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน
- การศึกษาต่อเนื่องมีกี่รูปแบบ อะไรบ้าง
ตอบ 6 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
- รูปแบบ การจัดการศึกษาหลังการรู้หนังสือแล้ว
การศึกษาในรูปแบบนี้มีเป้าหมายที่จะคงสภาพ และส่งเสริมการรู้หนังสือ คิดเลขเป็นและมีทักษะในการแก้ปัญหาได้ มีทักษะความรู้ พื้นฐานในการทำงาน และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการเทียบโอน
การศึกษาในรูปแบบนี้กำหนดให้เป็นทางเลือกทางการศึกษาที่จะเลือกเรียนทางสายสามัญหรือสายอาชีพ
- รูปแบบ การจัดการศึกษาเพื่อการมีรายได้ การศึกษาในรูปแบบนี้ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกการเรียน เพื่อเป็นทักษะในการประกอบอาชีพ โดยผู้เรียนสามารถที่จะประกอบอาชีพได้ การเรียนในรูปฝึกทักษะอาชีพนี้ สามารถจัดได้ในหลายลักษณะ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถหารายได้อย่างพอเพียง
- รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาในรูปแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนและชุมชนเกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติเพื่อสร้างคุณค่าและทักษะ เพื่อให้ประชาชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละคนในอันที่จะเป็นสมาชิกของชุมชน
- รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมความสนใจส่วนบุคคล
การศึกษาในรูปแบบนี้จัดเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนมีส่วนร่วมและเรียนรู้เกี่ยวกับที่สังคมต้องการ วัฒนธรรม ความเชื่อ สุขภาพอนามัยและความสนใจทางด้านศิลปะ
- รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับอนาคต
การศึกษาในรูปแบบนี้ จัดให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ผู้ชำนาญการสาขาต่าง ๆ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน นักธุรกิจ และนักวางแผน เกี่ยวกับทักษะใหม่ ๆเกี่ยวกับความรู้และเทคนิคที่จะพัฒนาตนเองและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เขาเหล่านั้นรับผิดชอบให้เหมาะสมกับความเจริญเติบโตของสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
การส่งเสริมการรู้หนังสือและกลุ่มเป้าหมายพิเศษ
- วัน International Literacy Day ตรงกับวันใด
ตอบ วันที่ 8 กันยายน ของทุกปี
- จงอธิบายนิยามของการรู้หนังสือ
ตอบ การรู้หนังสือ มีนิยามที่แตกต่างกันเป็น 4 จำพวก (UNESCO 2006 : 148 หน้า)
1.การรู้หนังสือเป็นทักษะอัตโนมัติชุดหนึ่ง (literacy as an autonomous set of skills) จุดเน้นของความหมายนี้ คือ ทักษะการอ่าน ฟัง พูด เขียน และทักษะการคิดคำนวณ
- การรู้หนังสือเป็นสิ่งที่ปฏิบัติและขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม (literacy as applied, practiced and situated) เป็นการมุ่งใช้ทักษะในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นที่มาของการรู้หนังสือแบบเบ็ดเสร็จ (functional literacy) แนวคิดนี้มองว่า การรู้หนังสือควรส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ(และต่อมายังขยายไปถึงการพัฒนา ด้านอื่น ๆ เช่น บุคคล วัฒนธรรม และการเมือง) แนวคิดของการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จมองการรู้หนังสือว่าสามารถจะสอนให้เกิดทักษะทั่วไปที่สามารถนำไปใช้ในทุกนทุกแห่งได้
- การเรียนรู้เป็นกระบวนการเรียนรู้ (literacy as a learning process) การรู้หนังสือแนวคิดนี้เป็นอีกแนวคิดหนึ่งซึ่งเห็นว่า การรู้หนังสือไม่ใช่การรู้หนังสือแบบจำกัดตัวอยู่เฉพาะการจัดให้อ่านเขียนเท่านั้น แต่มองว่าประสบการณ์เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ เปาโล แฟร (Paulo Freire) เห็นว่า การอ่านคำแต่ละเป็นไม่ใช่เป็นเพียงการออกสียงให้ถูกต้อง แต่เป็นการอ่านโลก (หรือสภาพแวดล้อม) ที่คำ ๆ นั้น ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทน การอ่านคำ จึงเป็นการอ่านโลกซ้ำอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง ( The reading of the word sends the reader back to the previous reading of the world, which is, in fact, a rereading.) (Paulo Freire. Pedagogy of the City, 1993)
- การรู้หนังสือเป็นการอ่านตำรา (literacy as text) แนวคิดนี้มองว่า การรู้หนังสือเป็นการอ่านตำรา (Bhola, 1994) ตามทฤษฎีนี้ มีแนวคิดว่า แบบเรียนหรือวัสดุการอ่านที่ใช้ในโรงเรียน มีความสัมพันธ์กับชีวิตของผู้เรียนในปัจจุบันและอนาคต จึงควรศึกษาวิเคราะห์เรื่องราวที่อยู่ในหนังสือเหล่านั้น เพื่อทำความเข้าใจชีวิตในปัจจุบัน และอนาคตที่ผู้เรียนจะต้องมีส่วนร่วม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น